เมื่ออากาศเย็น…ต้องระวังภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ

         ในช่วงเริ่มเข้าฤดูหนาว อากาศจะเริ่มเย็นสบายขึ้น แต่ในความเย็นจะแฝงไปด้วยความชื้นในอากาศต่ำ อาการแห้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผิวหนังทำให้เกิดผิวแห้งและคันมากขึ้น จึงต้องมีการดูแลผิวหนังเป็นพิเศษโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ(Atopic dermatitis)

โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบเป็นอย่างไร

         โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ ลักษณะจะเป็นผื่นแดง แห้ง ลอก มีอาการคันมาก บางครั้งพบตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส  ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วกลายเป็นสะเก็ดแข็ง ในกลุ่มผู้ที่เป็นมานานจะพบเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ส่วนของร่างกายที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ

เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

         พบได้ในตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยแบ่งกลุ่มและอาการได้ดังนี้

         กลุ่มเด็กเล็ก ช่วงอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป มักพบผื่นแดงคัน ร่วมกับมีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็กๆ ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองหรือตกสะเก็ด มักพบการเกาของเด็ก หรือ การถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน  บริเวณที่พบบ่อย  เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้

         กลุ่มเด็กทั่วไป อายุระหว่าง 2-12 ปี มักพบตุ่มนูนแดงแห้งๆ มีขุยเล็กน้อย มีอาการคัน ไม่ค่อยพบตุ่มน้ำเหมือนเด็กเล็ก สิ่งสำคัญที่เจอบ่อยคือ เด็กจะคันและเกามากจนพบการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผื่นได้ บริเวณที่พบบ่อย เช่น บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา

กลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ อาการคือผื่นแดง แห้ง คัน บริเวณที่พบบ่อยคือ รอบคอ ข้อพับแขน ขา

ทำไมถึงพบบ่อยในช่วงเข้าฤดูหนาว

ผื่นผิวหนังอักเสบมักลุกลามจากการมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ในฤดูหนาว อากาศแห้ง ความชื้นในอากาศต่ำ และมักพบการกระจายของละอองเกสร เชื้อรา มากับอากาศซึ่งกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังอักเสบมีอาการกำเริบมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้น เช่น อาหาร เชื้อโรค สบู่ ผงซักฟอก 

การจัดการและดูแลรักษา

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคือง
  2. ป้องกันผิวแห้งโดยการทามอยซ์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น ควรทาหลังอาบน้ำทันที แนะนำให้ทาวันละหลายครั้ง
  3. 3. ยาทากลุ่มสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์
  4. 4. แนะนำไม่ให้ผู้ป่วยเกา เนื่องจากการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบมากขึ้น ซึ่งอาจรับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีนเพื่อช่วยลดอาการคันได้

อ้างอิง สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย